
การพัฒนาแบบ low-code กับแบบเดิม
เรียนรู้ว่าการพัฒนาแบบ low-code และแบบเดิมแตกต่างกันและส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างไร
การพัฒนาแบบ low-code คืออะไร
การพัฒนาแบบ low-code เป็นวิธีการพัฒนาซอฟต์แวร์ทางเลือกที่ควบคู่ไปกับความสามารถอื่นๆ ช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้กับการสร้างเว็บไซต์และแอปโดยใช้โมดูลที่มีการตั้งค่าไว้ล่วงหน้า เทมเพลตสำเร็จรูป ฟังก์ชันแบบลากและวาง และกระบวนการอัตโนมัติ เนื่องจากต้องใช้ความเชี่ยวชาญหรือความรู้ในการเขียนโค้ดเพียงเล็กน้อย ผู้ที่ไม่ใช่นักพัฒนาจึงสามารถนำแอปพลิเคชันและผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว
การพัฒนาแบบ low-code มีมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับธุรกิจต่างๆ ที่กำลังมองหาโซลูชันที่เพิ่มเวลาให้กับทีมไอที และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สำหรับองค์กรต่างๆ ที่มีทรัพยากรด้านไอทีจำกัด การพัฒนาแบบ low-code สามารถช่วยให้นักพัฒนาและผู้ที่ไม่ใช่นักพัฒนาสามารถเพิ่มพูนทักษะของตนได้โดยการพัฒนาแอปภายในองค์กรอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น แทนที่จะพึ่งพาการพัฒนาแบบกำหนดเองที่มีค่าใช้จ่ายสูง
ประโยชน์และจุดบกพร่องของการพัฒนาแบบ low-code
การพัฒนาแบบ low-code กำลังเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาซอฟต์แวร์มากขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยลดภาระงานและช่วยให้องค์กรออกแบบ ปรับใช้ และอัปเดตแอปได้อย่างรวดเร็ว การปรับใช้งานและการอัปเดตที่รวดเร็วช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีกว่าให้กับลูกค้าได้ เนื่องจากพวกเขาสามารถตอบสนองต่อคำติชมและพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปได้อย่างฉับไว การสร้างแอปแบบ low-code ด้วยบริการอย่าง Microsoft Power Apps สามารถช่วยธุรกิจต่างๆ ในการสร้างแอประดับมืออาชีพพร้อมฟังก์ชันการทำงานขั้นสูงได้
แพลตฟอร์มการพัฒนาแบบ low-code สามารถรองรับความต้องการทางธุรกิจที่หลากหลายและช่วยแบ่งเบาภาระงานด้านไอที พนักงานที่ไม่ใช่พนักงานฝ่ายไอทีสามารถใช้การพัฒนาแบบ low-code ในการร่วมพัฒนาแอปได้ ทำให้นักพัฒนามืออาชีพมีเวลามากขึ้นในการมุ่งเน้นไปที่การเขียนโค้ดยากๆ สำหรับส่วนประกอบและแอปพลิเคชันแบบกำหนดเอง และผู้เชี่ยวชาญด้านไอทียังสามารถใช้การทำงานอัตโนมัติแบบ low-code เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการและปริมาณงานได้ แม้ว่าการพัฒนาแบบ low-code จะมีข้อจำกัดบางประการ แต่ประโยชน์ที่มีมากมายทำให้เป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับธุรกิจต่างๆ
ตัวอย่างของแอปแบบ low-code ที่ธุรกิจต่างๆ สามารถพัฒนาได้
- แอปการจัดการต้นทุนการดำเนินงาน
- แอปจัดตารางเวลา
- แอปจัดการค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ
- แอปบันทึกการทำงานประจำวัน
- แอปเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ
- แอปขอลางาน
- แอปขอรับบริการ
- แอปจ่ายเงินเดือน
- แอปกิจกรรมให้เงินช่วยเหลือและสัญญา
- แอปกระบวนการอนุมัติ
- แอปติดตามสินค้าคงคลัง
- แอปวางแผนกิจกรรม
สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับ สถานการณ์ของแอปแบบ low-code และ ตัวอย่างในโลกแห่งความเป็นจริง และเรียนรู้ว่า ลูกค้า Power Apps มีการใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวอย่างไรในภาคธุรกิจและองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร
ประโยชน์ของการพัฒนาแบบ low-code
- ใช้งานง่าย: โมดูลและเทมเพลตแบบลากและวางทำให้การพัฒนาแอปง่ายขึ้นมาก ไม่ต้องงมให้เสียเวลา
- ลดภาระงานด้านไอที: ด้วยการจัดเตรียมชุดเครื่องมือเพิ่มเติมให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านไอที การพัฒนาแบบ low-code ทำให้พวกเขามีความยืดหยุ่น สามารถทุ่มเทเวลาและความรู้ความสามารถเฉพาะทางไปทำโครงการสำคัญๆ ได้
- ลดอุปสรรคในการเข้าถึง ด้วยเครื่องมือที่เรียบง่าย อินเทอร์เฟซที่เข้าใจง่าย และคุณสมบัติแบบลากและวาง การพัฒนาแบบ low-code ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานแผนกอื่นๆ สามารถเข้าถึงแอปและโครงการเขียนโค้ดได้กว้างขึ้น ช่วยให้พวกเขาปรับปรุงความรู้และทักษะในการพัฒนา และ ส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง
- นำแอปออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว: เทมเพลตและเครื่องมือสำเร็จรูปจะช่วยให้พนักงานสร้างและเปิดตัวแอปได้อย่างรวดเร็ว
- คุ้มค่ากับต้นทุน: การใช้เทมเพลตและเครื่องมือแบบ low-code หมายความว่าธุรกิจไม่ต้องลงทุนเวลาและทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาแบบกำหนดเอง ซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่า
- การอัปเดตและการบำรุงรักษาที่ง่ายกว่า: แทนที่จะพึ่งพาการพัฒนาแบบกำหนดเองสำหรับการอัปเดตใหม่ๆ และการบำรุงรักษาตามปกติ แพลตฟอร์มแบบ low-code สามารถจัดการสิ่งนี้ในนามของธุรกิจได้
- ช่วยให้องค์กรปลอดภัยอยู่เสมอ: แพลตฟอร์มอย่าง Microsoft Power Platform มีระบบรักษาความปลอดภัยในตัวและช่วยเชื่อมโยงแอปพลิเคชันต่างๆ ที่เป็นอิสระต่อกันให้เป็นโครงสร้างเดียวกันได้
- ข้อมูลและการวิเคราะห์ที่มีคุณค่า: เครื่องมือและแดชบอร์ดที่มีอยู่แล้วภายในแพลตฟอร์มแบบ low-code สามารถนำเสนอแบบจำลองและรายงานที่เป็นภาพพร้อมข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์และนำไปปฏิบัติได้
- ทำงานซ้ำๆ แบบอัตโนมัติ: ร่วมกับการพัฒนาแบบกำหนดเอง พนักงานไอทีสามารถใช้การพัฒนาแบบ low-code เพื่อปรับปริมาณงานของตนให้เหมาะสมได้
จุดบกพร่องของการพัฒนาแบบ low-code
- ปรับแต่งและปรับขนาดได้น้อยกว่าการพัฒนาแบบกำหนดเอง: แม้ว่าแพลตฟอร์มแบบ low-code จะนำมีเทมเพลตสำเร็จรูปที่หลากหลาย แต่ก็อาจใช้ได้อย่างจำกัดสำหรับโครงการที่ซับซ้อนมากกว่า และไม่ได้มีความสามารถในการปรับขนาดตามการเติบโตและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของธุรกิจเสมอไป
- มีข้อจำกัดในการผสานรวมกับระบบอื่น: แพลตฟอร์มหรือระบบแบบเดิมอาจต้องการโซลูชันการผสานรวมระบบที่ซับซ้อนมากขึ้น
- ขาดความยืดหยุ่นของเทมเพลต: การทำงานภายในเทมเพลตที่เฉพาะเจาะจงนั้นหมายความว่า ผู้ปฏิบัติงานอาจต้องสร้างวิธีแก้ปัญหาหรือเปลี่ยนความคาดหวังเกี่ยวกับฟังก์ชันการทำงานของแอป
การพัฒนาแอปด้วยโค้ดแบบเดิมหรือการพัฒนาแอปแบบกำหนดเองคืออะไร
การพัฒนาแอปแบบกำหนดเอง ซึ่งใช้การเขียนโค้ดแบบเดิมนั้นต้องอาศัยนักพัฒนามืออาชีพในการวางแผน ออกแบบ เขียนโค้ด และปรับใช้ซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันด้วยตนเอง ในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่มีการเขียนโค้ดแบบเดิมนั้น แต่ละคุณสมบัติหรือองค์ประกอบจะมีโค้ดแบบกำหนดเอง และนักพัฒนาก็ทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการที่เฉพาะเจาะจงซึ่งมักจะซับซ้อน แม้ว่าการเขียนโค้ดแบบเดิมมักจะใช้เวลานานกว่าและมีราคาแพงกว่าการพัฒนาแบบ low-code แต่ตัวเลือกการปรับแต่งที่กว้างกว่านั้นอาจเป็นประโยชน์สำหรับบางโครงการ
ประโยชน์ของการพัฒนาแอปแบบกำหนดเอง
- สามารถปรับแต่งได้สูง: นักพัฒนาจะสามารถวางแผน ออกแบบ และตอบสนองความต้องการเฉพาะทางของธุรกิจได้
- ปรับขนาดได้และปรับเปลี่ยนได้: การพัฒนาแบบกำหนดเองมีความคล่องตัวมากกว่า ช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความจำเป็น ขยายขนาดเมื่อจำเป็น และปรับให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของธุรกิจได้
- ฟังก์ชันการทำงานที่กว้าง: โค้ดแบบกำหนดเองมีฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลาย และนักพัฒนาสามารถปรับแต่งฟังก์ชันให้ตรงกับความต้องการที่จำเพาะเจาะจงได้
- การผสานรวมกับระบบอื่นๆ: นักพัฒนาจะสามารถปรับแอปพลิเคชันเพื่อรวมเข้ากับแอป ระบบ หรือผลิตภัณฑ์รุ่นเก่าอื่นๆ ได้
จุดบกพร่องของการพัฒนาแอปแบบกำหนดเอง
- การบำรุงรักษาที่ต่อเนื่อง: แอปแบบกำหนดเองต้องมีการลงมือปฏิบัติจริงเพื่อรักษาความปลอดภัยและดูแลรักษา
- ค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า: การสร้างแอปแบบกำหนดเองอาจมีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน และการบำรุงรักษายังต้องใช้ทักษะเฉพาะทางที่อาจส่งผลให้มีการเรียกเก็บเงินที่สูงขึ้น
- ระยะเวลาการปรับใช้งานและการทดสอบที่ยาวนานกว่า: เนื่องจากการพัฒนาแบบกำหนดเองมักจะซับซ้อน การปรับใช้งานและทดสอบจึงอาจมีความซับซ้อนกว่า ส่งผลให้มีระยะเวลารอนานขึ้นก่อนที่จะปล่อยแอปให้ลูกค้าหรือสาธารณชนได้ใช้งาน
- การอัปเดตและการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลานานกว่า: การสร้างแอปแบบกำหนดเองเกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนาที่ยาวนานกว่าการพัฒนาแบบ low-code และการวางแผนและการอัปเดตก็ใช้เวลามากกว่าเช่นกัน
การพัฒนาแอปแบบ low-code และแบบเดิมแตกต่างกันอย่างไร
การพัฒนาแบบ low-code แตกต่างจากการพัฒนาแอปแบบเดิมตรงที่การพัฒนาแบบ low-code จะขยายความสามารถในการสร้างแอปหรือเว็บไซต์ให้กับผู้คนจำนวนมากขึ้น ในขณะที่การเขียนโค้ดแบบเดิมต้องอาศัยนักพัฒนามืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในการเขียนโค้ดด้วยตนเอง แต่การพัฒนาแบบ low-code นั้นอาศัยเพียงพื้นฐานความรู้ขั้นต่ำเท่านั้น และมีเครื่องมือ เทมเพลต และอินเทอร์เฟซที่ไม่ซับซ้อนและใช้งานง่าย
เมื่อต้องตัดสินใจว่าแนวทางใดดีที่สุดสำหรับสถานการณ์หรือโครงการของคุณ ให้พิจารณาคำถามต่อไปนี้
- โครงการของคุณซับซ้อนมากแค่ไหน จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและอัปเดตเป็นประจำหรือไม่
- คุณต้องการความสามารถในการผสานรวมระบบหรือไม่ หรือคุณจะต้องการหรือไม่ในอนาคต
- คุณต้องการให้แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ของคุณใช้งานได้เร็วแค่ไหน
- คุณมีงบประมาณมากแค่ไหน
- คุณต้องการให้มีการรักษาความปลอดภัยอย่างไรบ้าง
- แผนกไอทีของคุณต้องอุทิศเวลาให้กับโครงการมากแค่ไหน
- คุณมีพนักงานที่ไม่ใช่นักพัฒนาที่มีความรู้ด้านการเขียนโค้ดอยู่แล้วหรือสนใจที่จะเพิ่มพูนทักษะการเขียนโค้ดหรือไม่
ความแตกต่างระหว่างการพัฒนาแบบ low-code กับแบบเดิม
การพัฒนาแบบ low-code
- อาศัยความรู้เกี่ยวกับการเขียนโค้ดน้อยมาก
- ลดต้นทุนการพัฒนา
- ใช้เทมเพลตและเครื่องมือแบบลากและวาง
- มีการอัปเดตอัตโนมัติและการบำรุงรักษาตามรอบที่กำหนด
- นำเสนอภาพ รายงาน และการวิเคราะห์ในตัว
การพัฒนาแบบเดิม
- อาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่มีทักษะ
- ต้องใช้เวลา พลังงาน เงิน และทรัพยากรมากกว่า
- ช่วยให้สามารถปรับแต่งได้คล่องตัวยิ่งขึ้น
- สามารถผสานรวมเข้ากับระบบและแอปอื่นๆ ได้หลากหลาย
- ปรับขนาดและปรับแต่งได้ง่ายกว่า
การพัฒนาแบบ no-code กับแบบเดิม
เช่นเดียวกับการพัฒนาแบบ low-code การพัฒนาแบบ no-code ยังช่วยให้ธุรกิจและนักพัฒนามีเครื่องมือเพิ่มเติมในการขยายการสร้างแอปไปยังกลุ่มพนักงานได้กว้างขึ้น และช่วยให้ทีมไอทีสามารถโฟกัสงานที่ต้องใช้ทักษะสูงๆ ได้มากขึ้น
การพัฒนาแบบ low-code อาจต้องการความรู้พื้นฐานในการเขียนโค้ด แต่การพัฒนาแบบ no-code นั้นไม่ต้องมีความรู้พื้นฐานอะไรเลย เครื่องมือสร้างแอปแบบ no-code มีอินเทอร์เฟซที่ไม่ซับซ้อนและใช้งานง่าย ซึ่งช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนสามารถสร้างและเปิดใช้งานแอปบนอุปกรณ์เคลื่อนที่และเว็บแอปได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าการพัฒนาแบบ no-code มักจะถูกกว่าแบบ low-code และการพัฒนาแบบเดิม แต่ก็มีตัวเลือกการปรับแต่งน้อยกว่าและเหมาะกับโครงการง่ายๆ
การใช้การพัฒนาแบบ low-code ร่วมกับการพัฒนาแบบเดิม
การพัฒนาแบบ low-code ไม่ได้เข้ามาแทนที่การพัฒนาแบบเดิมแต่อย่างใด แต่เป็นเครื่องมือที่ธุรกิจต่างๆ สามารถใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเขียนโค้ดและแบ่งเบาภาระงานที่ต้องทำซ้ำๆ หรืองานที่ไม่จำเป็นต้องรอให้แผนกไอทีมาทำ การพัฒนาแบบ low-code ช่วยให้นักพัฒนาทำงานได้เร็วขึ้นและใช้ทักษะเฉพาะทางของตนเองได้อย่างเต็มที่เพื่อทำโครงการที่ยากกว่าและต้องมีการกำหนดค่าต่างๆ มากกว่า
ด้วยการพัฒนาแบบ low-code นักพัฒนาสามารถเริ่มต้นโครงการและเพิ่มฟังก์ชันพื้นฐานให้กับหน้าต่างๆ ที่มีอยู่หรือสร้างหน้าใหม่ภายในบริบทของโครงการขนาดใหญ่และซับซ้อนมากกว่า ในขณะที่หลีกเลี่ยงการเขียนโค้ดทีละบรรทัด การพัฒนาแบบ low-code สามารถขยายทรัพยากรและเครื่องมือที่มีให้กับทีมไอทีได้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้พวกเขาส่งต่องานง่ายๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่นักพัฒนา
การเริ่มต้นใช้งานการพัฒนาแบบ low-code
การใช้แพลตฟอร์มแบบ low-code สามารถช่วยธุรกิจต่างๆ สนับสนุนการทำงานของทีมไอทีได้ และสนับสนุนให้นักพัฒนาที่ไม่ใช่มืออาชีพได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะใหม่ๆ เมื่อพิจารณาแพลตฟอร์มแบบ low-code ต่างๆ ให้นึกถึงความต้องการขององค์กรของคุณ และเลือกแพลตฟอร์มที่สามารถรองรับโครงการต่างๆ ที่คุณวางแผนไว้ได้ และจัดหาเครื่องมือให้ทีมไอทีของคุณเพื่อเพิ่มพูนทักษะและลดภาระงาน แพลตฟอร์มและเครื่องมือต่างๆ เช่น Microsoft Power Platform และ Power Apps สามารถช่วยให้คุณเพิ่มศักยภาพให้กับทีมงานทั้งทีมในการสร้างและเปิดตัวแอป และมอบเครื่องมือให้กับนักพัฒนาของคุณเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของแอป
คำถามที่พบบ่อย
ความแตกต่างหลักๆ ระหว่างการพัฒนาแบบเดิมกับการพัฒนาแบบ low-code มีอะไรบ้าง
ข้อแตกต่างที่สำคัญคือการพัฒนาแบบ low-code นั้นอาศัยความรู้หรือความเชี่ยวชาญในการเขียนโค้ดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากการพัฒนาแบบ low-code ใช้เทมเพลตและเครื่องมือแบบลากและวาง แพลตฟอร์มแบบ low-code จึงสามารถเข้าถึงได้สำหรับพนักงานในวงกว้าง โดยทั่วไปแล้ว แพลตฟอร์มแบบ low-code จะคุ้มค่ากว่าและสามารถช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ผลิตและเปิดตัวแอปได้เร็วกว่าการพัฒนาแบบเดิม
การพัฒนาแบบ low-code จะเข้ามาแทนที่นักพัฒนาหรือไม่
การพัฒนาแบบ low-code ไม่ได้เข้ามาแทนที่นักพัฒนา แต่เป็นการมอบเครื่องมือเพิ่มเติมให้กับทีมไอที และไม่คุกคามการทำงานของพวกเขาที่ต้องใช้ทักษะสูงกว่า การพัฒนาแบบ low-code ช่วยให้นักพัฒนาทำงานซ้ำๆ ได้แบบอัตโนมัติ มีเวลาไปทำงานที่ซับซ้อนมากกว่า และอุทิศเวลาให้กับโครงการที่ต้องใช้ทักษะและยากมากกว่า การพัฒนาแบบ low-code ยังทำให้ผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ใช่ฝ่ายไอทีสามารถช่วยทีมพัฒนาในการสร้างเว็บไซต์และแอประดับมืออาชีพได้
ข้อดีและข้อเสียของการพัฒนาแบบ low-code มีอะไรบ้าง
ข้อดีของการพัฒนาแบบ low-code ได้แก่ ใช้งานง่าย ลดภาระงานด้านไอที ลดอุปสรรคในการเข้าถึง คุ้มค่ากับต้นทุน อัปเดตและบำรุงรักษาง่ายกว่า คุณลักษณะด้านการรักษาความปลอดภัยที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีกว่า ข้อมูลและการวิเคราะห์มีคุณค่า และระบบอัตโนมัติที่ช่วยทำงานซ้ำๆ ข้อเสียของการพัฒนาแบบ low-code ได้แก่ การปรับปรุงตามคำสั่งและความสามารถในการปรับขนาดที่มีความจำกัด ตัวเลือกการผสานรวมน้อยกว่า และเทมเพลตไม่ยืดหยุ่น
ข้อดีและข้อเสียของการพัฒนาแบบเดิมมีอะไรบ้าง
ข้อดีของการพัฒนาแบบเดิม ได้แก่ ตัวเลือกที่สามารถปรับแต่งได้สูง ความสามารถในการปรับขนาดและความสามารถในการปรับตัวสูงกว่า ฟังก์ชันการทำงานที่กว้าง และความสามารถในการรวมเข้ากับระบบอื่นๆ ได้รวดเร็วมากกว่า ข้อเสียของการพัฒนาแบบเดิม ได้แก่ ค่าใช้จ่ายล่วงหน้าและค่าบำรุงรักษาที่สูงกว่า วิธีการรักษาความปลอดภัยและการบำรุงรักษาที่ยุ่งยากกว่า ระยะเวลาการปรับใช้งานและการทดสอบที่ยาวนานกว่า ตลอดจนการอัปเดตและการเปลี่ยนแปลงที่ต้องใช้เวลามากกว่า
การพัฒนาแบบ low-code แตกต่างจากการพัฒนาแบบ no-code อย่างไร
ในขณะที่การพัฒนาแบบ low-code และการพัฒนาแบบ no-code เสนอทางเลือกที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้เพื่อแทนที่การเขียนโค้ดแบบเดิม การพัฒนาแบบ low-code นั้นแตกต่างจากการพัฒนาแบบ no-code ตรงที่การพัฒนาแบบ low-code อาจต้องใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญในการเขียนโค้ดอยู่บ้าง ในขณะที่การพัฒนาแบบ no-code ไม่ต้องใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญเลย
ฉันจะเลือกแนวทางการพัฒนาที่ดีที่สุดสำหรับโครงการของฉันได้อย่างไร
เวลาที่ต้องเลือกแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับโครงการของคุณ ให้คำนึงถึงความซับซ้อนของโครงการและงบประมาณที่คุณมี ลองนึกถึงสิ่งที่คุณต้องการในอนาคต คุณมีการวางแผนสำหรับการขยาย การอัปเกรด หรือการผสานรวมระบบหรือไม่ ถ้ามี คุณอาจเลือกใช้การพัฒนาแบบกำหนดเอง หากโครงการของคุณมีความจำเป็นที่ต้องเปิดตัวอย่างรวดเร็ว จะคุ้มค่ากว่าถ้ามีการอัปเดตอัตโนมัติและการสนับสนุนด้านความปลอดภัยจากแพลตฟอร์มแบบ low-code ดังนั้น การพัฒนาแบบ low-code อาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
ฉันจะเลือกแพลตฟอร์มแบบ low-code อย่างไร
เวลาที่ต้องเลือกแพลตฟอร์มแบบ low-code ให้พิจารณาความต้องการของธุรกิจและทีมพัฒนาของคุณ คุณมีโครงการที่ต้องพัฒนามากแค่ไหน ตั้งแต่แอปไปจนถึงหน้าเว็บ ทีมของคุณมีประสบการณ์มากแค่ไหนและใครจะเป็นผู้ออกแบบโครงการของคุณ คุณต้องการการรายงานและการวิเคราะห์ข้อมูลประเภทใด สุดท้าย ตรวจสอบงบประมาณของคุณและเลือกตัวเลือกที่เหมาะสมกับความต้องการของคุณมากที่สุด